Soneva Kiri : Chapter 6 Sustainable Life

Soneva Kiri เกาะกูด มีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ คือ “เป็นมิตรและรักษาสิ่งแวดล้อม” ในรีสอร์ตขนาดใหญ่กว่า 400 ไร่แห่งนี้ จึงแทบไม่มีการตัดต้นไม้ ที่สำคัญยังปลูกต้นไม้ใหญ่เข้าไปเพิ่ม ทำสวน ปลูกผัก ผลไม้ ไว้รับประทานภายในรีสอร์ต จัดการระบบน้ำเสีย การนำพลังงานไบโอดีเซลกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การจัดการระบบนิเวศน์ภายในรีสอร์ตมีครบทั้ง Reduce-Reuse-Recycle จนกลายมาเป็น “Eco Centro” เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัล World Travel and Tourism Council’s ‘Tourism for Tomorrow Award มาแล้ว

คุณโซนุ เจ้าของ Soneva Kiri กำชับกับพนักงานทุกคนตั้งแต่เริมต้นสร้างรีสอร์ตว่า ห้ามตัดต้นไม้ในรีสอร์ทของเธอเด็ดขาด หากต้นไหนที่ตายก็ปล่อยให้ตายซากไปเอง ส่วนเศษไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง จะถูกนำไปแปรรูปเป็นฟืนเพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป ดังนั้น จงอย่าได้แปลกใจหากบริเวณรอบๆ รีสอร์ทอาจจะดูมีความเป็นธรรมชาติคล้ายกับป่ารก แต่กลับกลายเป็นว่า ต้นไม้เหล่านี้ช่วยทำหน้าที่ปกคลุมรีสอร์คให้กลายเป็นแหล่งผลิตโอโซนธรรมชาติขนาดใหญ่ไปโดยปริยาย เพื่อให้แขกผู้เข้าพักได้เข้าใจกับความเป็นธรรมชาติของเกาะกูดให้ได้มากที่สุด

กานต์เคยเขียนเรื่องเทรนด์ผู้บริโภคจากนี้ไปว่า ลูกค้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในวัตถุดิบและอาหารมากเป็นพิเศษ และต้องการที่จะรู้ว่าอาหารของพวกเขามาจากไหน แหล่งวัตถุดิบของอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร มีกระบวนการปรุงอย่างไร เพราะไม่แน่ใจว่าอาหารที่จะรับประทานเข้าไปนั้นจะทำได้อย่างสะอาดและปลอดภัยหรือไม่ ร้านอาหารอาจจะเน้นการสื่อสารตรงจุดนี้เพิ่ม เพื่อสร้างความมั่นใจ เน้นสร้างมาตรฐานการทำงานของทุกแผนกในร้านอาหาร มีการสร้างวัฒนธรรมการฆ่าเชื้อขึ้นมา เพื่อให้แน่ใจว่า ทางร้านสามารถจัดการเรื่องสะอาด ปลอดภัยนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่เชื่อไหมครับว่า เรื่องเหล่านี้ Soneva Kiri ทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว

Eco Centro

“พี่มะลิ” เจ้าหน้าที่แผนกสวนของที่ Soneva Kiri รับหน้าไกด์พากานต์เดินชม Eco Centro ด้วยความภาคภูมิใจ เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สิ่งแวดล้อมของรีสอร์ตสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศน์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข

ทางเข้าเป็นซุ้มไม้เลื้อยทำจากยางเก่าและระแนงลวดเก่าเพื่อให้พืชได้ขึ้นมาเกาะออกดอกผล ส่วนพื้นทางเดินทำจากเศษไม้ที่เหลือจากการก่อสร้างรีสอร์ตนำมาเลื่อยให้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมตอกตะปูอัดลงดินเพื่อปูเดิน

กานต์ยังคงคอนเซปต์ No Shoes ตลอดเวลาที่อยู่ในรีสอร์ตครับ

บรรยากาศของ Eco Centro ซึ่งแบ่งออกเป็นโซนๆ ต่างเป็นไปด้วยความเรียบง่าย เราอาจจะไม่ได้เห็นแปลงเกษตรที่ตรงกันเป๊ะ เพราะที่นี่ปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมันเอง โดยมีมนุษย์เราคอยดูแล เพื่อให้เกิดสมดุลย์ บางทีต้นหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ก็มาอยู่ใกล้กับต้นกล้วย ถัดไปด้านในเป็นต้นโกโก้ที่กำลังเริ่มปลูก

แปลงผักสวนใหญ่เป็นผักที่นิยมรับประทานกันในร้านอาหารของรีสอร์ตอยู่แล้ว เช่น ใบกะเพรา พริก ตะไคร้ สาระแหน่ โหระพา คะน้า ผักกาด ผัดร็อกเก็ตสลัด วอเตอร์เครส หรือต้นเป็ดน้ำ และอีกมากมาย เรียงรายกันอย่างอบอุ่น ผักที่นี่ไม่มีสารเคมีแต่มีความออร์แกนิกส์ครับ แต่ใส่ปุ๋ยที่ได้มาจากเศษขยะในแผนกครัว ซึ่งมีมากกว่า 5,000 กิโลกรัมต่อเดือน ขยะสดเหล่านี้ถูกนำไปแปรสภาพกลายเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปใช้บำรุงพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกภายในรีสอร์ต นอกจากจะ ได้ผักผลไม้ที่มาจากธรรมชาติ แถมยังประหยัดหยัดงบประมาณในการซื้อปุ๋ยอีกด้วย

ซึ่งในแต่ละวัน เชฟแต่ละห้องอาหารก็จะสรุปว่า ต้องการพืช ผัก ผลไม้ ชนิดใดบ้าง จากนั้น แผนกสวนก็จะจัดเก็บและแพ็กเตรียมใส่กล่องไว้ให้กระจายกันไปตามความต้องการ

ที่นี่มีโรงเพาะเห็ดเป็นของตัวเองด้วยครับ

โซนไม้ดอก ไม้ประดับที่ใช้ในการตกแต่งรีสอร์ต

บริเวณ Eco Centro มีพื้นที่มากกว่า 3 ไร่ ก่อนหน้านี้เป็นที่ทิ้งขยะ ก่อนจะพัฒนามาเป็นศูนย์บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ คัดแยกให้เกิดการนำกลับไปใช้ได้ใหม่ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ขยะส่วนหนึ่งในนำไปขายให้กับโรงแยกขยะบนเกาะกูดและได้เงินกลับมา ในขณะที่อีกด้านเราก็ได้เห็นการแปรรูปกล่องลังโฟมให้กลายเป็นหลังคาศาลาแบบนี้

ขณะที่การบริหารจัดการของเสียต่างๆ มีการนำไปบำบัดใหม่โดยไม่ทิ้งลงทะเลให้กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Waste-to-Wealth) น้ำเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรีสอร์ตจะถูกนำมาบำบัดด้วยอ๊อกซิเจนจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพหรือ EM ในบ่อชีวภาพขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่มีระดับการกรองต่างกัน จนทำให้กลายเป็นน้ำดีที่สามารถนำกลับไปใช้รดน้ำต้นไม้และเลี้ยงปลาได้

ส่วนที่เป็น ส่วนน้ำมันเก่าที่เหลือจากการใช้ในครัว และน้ำมันเก่าที่ชาวบ้านในชุมชนเอามาขายให้ ทาง Soneva Kiri ก็ได้นำมาเข้าเครื่องกลั่นกลายเป็นไบโอดีเซล เพื่อแปรรูปนำกลับมาใช้กับเครื่องตัดหญ้าได้อีก

ที่นี่ยังมีโรงกรองน้ำของตัวเองด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซิส ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ เพิ่มแร่ธาตุและก๊าซเพื่อผลิตน้ำดื่มให้กับแขกในห้องพักและในห้องอาหาร ซึ่งจะบรรจุใส่ขวดแก้วเท่านั้น ไม่มีการใช้ขวดพลาสติก เราสามารถขอน้ำเปล่าและ Spakling Water ได้ตลอดทั้งวัน ส่วนขวดที่เก่าและไม่ได้ใช้ จะถูกนำไปทำเป็นแปลงไม้ประดับสวน

ส่วน Amenities ในวิลล่า ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ โลชั่น จะผลิตจากสารสกัดธรรมชาติและบรรจุไว้ในขวดเซรามิก เพื่อลดการใช้พลาสติกและสารเคมีให้ได้มากที่สุด

ในห้องนอนทุกวิลล่า จะมีสัญลักษณ์ของ Soneva วางอยู่ เพื่อสื่อสารกับผู้เข้าพัก หากไม่ต้องการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ก็สามารถแจ้งได้ เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัพยากรในการทำความสะอาด เข้าคอนเซปต์รักษ์โลก เพราะเอาเข้าจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผู้ปูที่นอนทุกวันหรอกครับ

จากการเดินทางไปพักผ่อนตามโรงแรมรีสอร์ตต่างๆ มาทั่วโลกของผม น้อยมากที่จะได้เห็นวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเช่น Soneva Kiri นี้ ผมเชื่อว่า Soneva Kiri น่าจะเป็นหนึ่งในรีสอร์ตไม่กี่แห่งในโลกที่เน้นความยั่งยืนและนำไปใช้อย่างจริงจังทั่วทั้งรีสอร์ต เผื่อแผ่ไปยังชุมชนต่างๆ บนเกาะกูดด้วย

คุณค่าและประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับจาก Soneva Kiri ช่างเป็นไปตามแนวคิด “Intelligent Luxury” ที่ทาง Soneva นำตีความใหม่และใช้ในการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ในการทำธุรกิจรีสอร์ตครับ

คำว่า “หรูหรา” ดูเป็นนามธรรมที่ยากจะทำให้เกิดได้ เพราะไม่ใช่แค่การนั่งเครื่องบินส่วนตัว เมนูอาหารที่เสิร์ฟคาร์เวียร์ นอนหนุนหมอนผ้าไหมบนผ้าปูที่นอนทอจากเส้นดาย 1,500 เส้น แต่กลับเป็นความหรูหราจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เป็นความรู้สึกใหม่ที่ตอบคำถามได้ว่า มนุษย์กับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน Soneva Kiri นำเสนอหลักการนี้จนกลายเป็นประสบการณ์ “ใหม่” ที่ได้สร้างเรื่องราวและความทรงจำที่มีคุณค่าในชีวิตของแขกผู้เข้าพักได้อย่างลึกซึ้งมากครับ ดังนั้น การเข้าพัก Soneva Kiri จึงไม่ใช่แค่การเข้าพักแค่ครั้งเดียว แต่เป็นความผูกพันอันเกิดจากประสบการณ์ที่แบรนด์ Soneva ตั้งใจคัดสรรและมอบให้นั่นเองครับ

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน