ตามรอยอารยธรรมไอนุ ที่ฮอกไกโด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีธรรมชาติยิ่งใหญ่และงดงาม ทว่าเรียบง่าย แฝงไว้ด้วยสัจธรรมวิถีแบบเซนครับ ดังนั้น ทุกท่านที่เดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น โดยเฉพาะฮอกไกโด ย่อมจะประทับใจกับธรรมชาติที่สุดแสนจะสวยงามของแดนปลาดิบ และกลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างบ้านต่างเมืองให้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายครับ

แต่รู้ไหมครับว่า เจ้าของเกาะฮอกไกโดที่แท้จริงแล้วคือชาว “ไอนุ” (Ainu) หรือ ไอโนะ ซึ่งมีความหมายว่า “มนุษย์” ครับ คุณผู้อ่านจะสังเกตรากอารยธรรมได้จากการตั้งชื่อสถานที่นั้นๆ เพื่อให้สืบค้นหาต้นตอที่มาได้ อย่างบนเกาะฮอกไกโด มักจะตั้งชื่อสถานที่เป็นภาษาไอนุเกือบทั้งสิ้นครับ เช่น ชื่อเมือง “โนโบริเบสสึ” (Noboribetsu) ก็มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาไอนุแปลว่า “สายน้ำแห่งหมอก” ส่วน “อุสึเคชิ” ชื่อเดิมของเมืองท่าเรือ “ฮาโกดาเตะ” (Hakodate) ก็หมายความว่า “อ่าว” ขณะที่เมืองชื่อดังอย่าง “ซัปโปโร” (Sapporo) มีความหมายว่า แม่น้ำสำคัญไหลผ่านที่ลุ่ม เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของเมืองฮอกไกโดเพิ่งมีมาประมาณ 140 ปีนี้เองครับ จากการที่เหล่าโชกุนและซามูไรผู้พ่ายแพ้สงครามในสมัยปฎิรูปเมจิ อพยพหนีตายจากเกาะฮอนชู (ฝั่งโตเกียว) ขึ้นมาทางภาคเหนือซึ่งก็คือเกาะฮอกไกโด ตั้งรกรากกันจนเกิดการกลืนกินชาติพันธุ์วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าไอนุขึ้น ผสานกันจนเป็นวัฒนธรรมแบบฉบับญี่ปุ่นในที่สุด ซึ่งก็ดำเนินไปตามทฤษฎีทางวัฒนธรรมที่ว่า “Culture is dynamic” (วัฒนธรรมมีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา) จนปัจจุบันแทบจะหาชนเผ่าไอนุแบบดั้งเดิมไม่พบแล้ว  ทั้งๆ ที่ชาวไอนุอาศัยอยู่บนเกาะฮอกไกโดมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 13 ครับ สอดคล้องการมีอยู่ของวลีที่ชาวไอนุจารึกเอาไว้บอกต่อลูกหลาน ถึงการตั้งถิ่นฐานกำเนิดของพวกเขาที่ว่า “ชาวไอนุอยู่ที่นี่หลายแสนปีก่อนที่บุตรแห่งพระอาทิตย์จะมา”

ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะฮอกไกโด จึงนิยมมาตามรอยอารยธรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกด้านของแดนอาทิตย์อุทัยผ่านหมู่บ้านจำลองของชนเผ่าไอนุ เจ้าของเกาะฮอกไกโดตัวจริงครับ

ชาวไอนุ พื้นฐานเป็นชาวอินเดียนแดงในประเทศญี่ปุ่น สัญลักษณ์อีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชาวไอนุนั้นเป็นชนเผ่าอินเดียนแดง คือ ในหมู่บ้านจะมีเสา “โทเทม” มีลักษณะเป็นเสาไม้ท่อนสูงใหญ่ที่มีการแกะสลักและตั้งตระหง่านอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งจะคล้ายคลึงกับชนเผ่าอินเดียนแดงทั่วทุกมุมโลกที่ต่างมีเสา “โทเทม” เช่นเดียวกัน แสดงถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าอินเดียนแดงในยุคนั้นที่มีการถ่ายทอดอารยธรรมถึงกันอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงครับ

นักมนุษยวิทยาเชื่อว่าชาวไอนุมีเชื้อสายคอเคซอย หรือชาวผิวขาว ซึ่งเป็นคนละเชื้อสายกับชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เห็นได้จากรูปลักษณ์ของชาวไอนุที่เป็นแบบผสมระหว่างยุโรปกับเอเซีย ชาวไอนุจะมีผิวขาว ขนดก ผมสีดำและใบหน้าลึกมากกว่าคนญี่ปุ่นทั่วไป ผู้หญิงชาวไอนุในอดีต นิยมสักรอบบริเวณริมฝีปากให้มีสีดำ เมื่อสักรอบปากแล้วเป็นการแสดงว่าพร้อมจะเข้าสู่วัยออกเรือนแล้ว ส่วนผู้ชายจะไว้หนวดเครายาว รูปร่างสูงใหญ่ โดยรวมแล้วชาวไอนุจะมีโครงสร้างทางร่างกายที่ใหญ่โตกว่าชาวญี่ปุ่นค่อนข้างมากครับ อย่างไรก็ตามยังมีข้อขัดแย้งในเชิงวิชาการอยู่ว่า แท้จริงแล้วชาวไอนุไม่ได้มีเชื้อสายคอเคซอยแต่อย่างใด

ชนเผ่าไอนุนับถือในพระเจ้าครับ คล้ายกับคนญี่ปุ่นในอดีต ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต ทั้งต้นไม้ ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ และนับถือสัตว์บางชนิด อย่างเช่น นกฮูก ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่แสดงถึงสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของชนเผ่าครับ ตอนที่เดินเล่นอยู่ภายในหมู่บ้านไอนุ ผู้เขียนได้สังเกตเห็นว่ามีสัญลักษณ์นกฮูกอยู่มากมายหลายจุดครับ ตลอดจนการนับถือหมีสีน้ำตาลว่าเป็นสัตว์เทพเจ้า ในปัจจุบันเป็นสัตว์ทั้งสองเป็นสัตว์หายาก ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไอนุให้การอนุรักษ์คุ้มครอง และสัตว์อีกชนิดที่ชาวไอนุเชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของพระเจ้า (Animal God) ก็คือเจ้าสุนัขสีขาว หน้าตาน่ารักครับ


ในพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านได้บอกเล่าอดีตชาวไอนุเอาไว้ว่า ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และตกปลา (แน่นอนครับว่าชาวไอนุจะต้องมีการทำพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าก่อนออกล่าสัตว์ตามความเชื่อ) ปลาแซลมอน ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อของที่นี่ ชาวไอนุยังได้คิดค้นวิธีการถนอมอาหารโดยการรมควันแซลมอนตัวใหญ่ๆ ตากแดดเอาไว้เป็นอาหารเมื่อหมดฤดูล่าสัตว์ทะเล ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำฟาร์มในช่วงประมาณศตวรรษที่ 18 ภายหลังงาวะผู้สำเร็จราชการที่ส่วนกลางส่งตรงมาบริหารได้เริ่มเปิดฟาร์มตามนโยบาย เริ่มนำเรื่องการจัดเก็บภาษีมาใช้ บังคับให้ชาวไอนุโกนเคราและหัดสวมใส่ชุดกิโมโนซึ่งเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่น นั่นย่อมสะท้อนถึงการรุกคืบและเป็นจุดล่มสลายของอารยธรรมไอนุแล้วครับ

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ทางการญี่ปุ่นได้พัฒนาเกาะฮอกไกโด มีการนำเอาวัฒนธรรมหลักของชาติญี่ปุ่นมาครอบชนเผ่าไอนุมากขึ้น เป็นผลให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมต้องเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง ชาวไอนุต้องทิ้งร้างเรื่องการประมงและการล่าสัตว์ จนทำให้ปัจจุบัน ชาวไอนุแท้ๆที่ดำรงชีพและยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมนั้นเหลืออยู่ไม่เยอะแล้วครับ

แม้ล่าสุด ในปีค.ศ. 2008 รัฐสภาญี่ปุ่นลงมติเป็นเอกฉันท์ยอมรับชาวไอนุให้เป็นชนพื้นเมืองของญี่ปุ่น พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้การสนับสนุนชาวไอนุ เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวไอนุได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมญี่ปุ่นมานานจนทำให้มีรายได้และระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เพราะมีชาวไอนุไม่ถึงร้อยละ 20 ที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้สะท้อนความตั้งใจจริงในการพัฒนาพื้นที่ฮอกไกโดในกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้วยการจัดประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) บนเกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นบ้านของชาวไอนุในปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 70,000 คน หมู่บ้านของชาวไอนุในบริเวณทะเลสาบอะคังได้ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมดังที่ผู้เขียนได้มายืนอยู่นี้ และกลายเป็นว่าปัจจุบันนี้อาชีพหลักของชาวไอนุคือ ทำงานไม้แกะสลักและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองให้กับนักท่องเที่ยวไปเสียแล้ว

สิ่งที่ผมชื่นชอบจากการตามรอยอารยธรรมไอนุเห็นจะเป็นเรื่องการแต่งกายของชาวไอนุครับ แม้จะเข้าสู่ยุคครอบงำทางวัฒนธรรมโดยรัฐ โดยเฉพาะการบังคับให้สวมกิโมโน กระนั้นชาวไอนุก็จะมีชุดกิโมโนดีไซน์พื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชนเผ่า ทั้งลวดลาย กระบวนการถักทอ ตลอดจนวัตถุดิบเส้นใยที่ใช้ก็ได้มาจากมาจากในท้องถิ่นของตนเอง

อีกเรื่องคือการเล่นดนตรีร้องรำทำเพลงครับ ชาวไอนุมีการประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องดนตรีที่ทำมาจากไม้และเส้นเชือก ทำให้ได้เครื่องดนตรีที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์  ส่วนการเต้นรำก็จะมีท่วงทำนองการร้องรำที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน โดยมีการร้อง “อุโปะโปะ” และการเต้นรำ “ริมุเซะ” เป็นหลัก ที่สำคัญการเต้นรำโบราณของไอนุ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วเมื่อปีค.ศ. 2009 ครับ

แม้การมาเยี่ยมชมหมู่บ้านโบราณของชนเผ่าพื้นเมืองไอนุครั้งนี้ จะไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเหมือนภาพฝันที่คิดเอาไว้มากนัก นัยหนึ่งเพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกกลืนกินไปเกือบหมดและแทนที่ด้วยวัฒนธรรมใหม่ที่ถูกประดิษฐ์สร้างโดยรัฐ แต่สิ่งที่น่าประทับใจสำหรับการตามรอยอารยธรรมไอนุและการท่องเที่ยวเกาะฮอกไกโด คือ ความสามารถของชาติญี่ปุ่นในการทำเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นมาจนหลายชาติต้องเหลียวตามอง

เราต้องยอมรับในความสามารถในการสร้างเทรนด์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และชูจุดขายเรื่องธรรมชาติที่สวยงาม แม้จะผ่านช่วงที่ขื่นขมจากสงครามมาได้ไม่ถึงร้อยปี จนทุกวันนี้ ญี่ปุ่นกลายเป็นธงไมล์หนึ่งที่นักเดินทางจากทั่วโลกให้ความสนใจและอยากจะมาปักหมุด ณ แดนปลาดิบให้ได้สักครั้ง

รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยในสมัยไร้วีซ่าเข้าญี่ปุ่นเช่นยุคนี้ …

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน