เมืองเก่าสุโขทัย (Sukhothai)

ณ เมืองเก่า สุโขทัย สวยอะไรเบอร์นี้!!

“On every travel, we saw beautiful landscapes. We travel to see beautiful places and to meet great souls.”

― Lailah Gifty Akita เขียนไว้ในหนังสือ Pearls of Wisdom: Great mind

“เราเดินทางเพื่ออะไร?” หลายคนตั้งคำถาม

กานต์เองก็ตั้งคำถามกับตัวเองเช่นกันครับ

ในการมาเยือนสุโขทัย ราชธานีเก่าที่ทรงคุณค่า แม้หลายคนอาจมองว่า ไปดูซากปรักหักพัง อิฐผุๆ ที่ซ้อนทับกัน

“ไปทำไม!! มันไม่เห็นมีอะไร”

นั่นเป็นเพราะเราใช้แค่ตาดู แต่ลืมส่งผ่านสิ่งที่เห็นลงไปถึงจิตใจและจิตวิญญาณที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

การได้มาเยือนชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย มีไกด์ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านขนานแท้มาเล่าขานตำนานเมืองพระร่วงให้ฟัง มีแกงโบราณให้ทาน มีบ้านแสนสุขให้นอนพักผ่อน จึงเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่หาได้ยาก

แต่หากคุณมาเที่ยวสุโขทัยเหมือนผม และได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมท่องเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 60 เส้นทางความสุขและการแบ่งปัน “Happiness we can shere” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและพันธมิตรร่วมกันสรรค์สร้างขึ้น ได้ร่วมกันแบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยวและการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ด้วยคอนเซปต์ที่ว่า “ความสุขแท้จริง เริ่มต้นจากการแบ่งปัน”

“ทุกคนคือครูของกันและกัน” ตลอด 2 วัน 1 คืน ที่อยู่เมืองเก่าสุโขทัย ผมได้แลกเปลี่ยนเรื่องราว มุมมอง ความรู้ ประสบการณ์ ในหลายด้านกับหลายคน เข็มวินาทีที่เดินไป เหมือนการเปิดหน้าใหม่ของหนังสือไปเรื่อยๆ จากบทหนึ่งสู่บทต่อไป เรื่องราวที่ได้จากการเดินทางไปเยือนสุโขทัย จึงเป็นตำราชีวิตเล่มใหญ่ที่ทรงคุณค่า

เพียงแค่เรา … ออกเดินทาง

“How could we have discovered great lands, if we dare not travel?”

แคมเปญนี้ มีข้อเสนอพิเศษจากเหล่าพันธมิตร เช่น สายการบินไทยสมายล์ นกแอร์ และแอร์เอเชีย รถเช่าจาก Travel I Go และอื่น ๆ ในราคาพิเศษ นักท่องเที่ยวสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทั้ง 60 เส้นทางความสุขและการแบ่งปัน “Happiness we can share” ได้ที่ https://bit.ly/5volunteer

#KANT#JournalistTravel#LuxuryTravel

#60เส้นทางความสุข#HappinessWeCanShare

#Amazingไทยเท่#สุโขทัย#Sukhothai

สุโขทัยเป็นเมืองที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณแห่งประวัติศาสตร์ การมาสุโขทัยของกานต์ จึงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในร่องรอยแห่งอารยธรรมที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

นักท่องเที่ยวสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมทั้ง 60 เส้นทางความสุขและการแบ่งปัน “Happiness we can share” ได้ที่ https://bit.ly/5volunteer

#KANT#JournalistTravel#LuxuryTravel
#60เส้นทางความสุข#HappinessWeCanShare
#Amazingไทยเท่#สุโขทัย#Sukhothai

วัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เราสามารถมองเห็นพระประธานและเจดีย์ประธานของวัดได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ด้านหน้า ซึ่งจะได้ภาพมุมกว้างที่สวยงาม

ไฮไลท์คือช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดิน ทางบริเวณด้านหลังวัดมหาธาตุ ซึ่งจะเป็นภาพที่สวยงามมากยามองค์พระต้องแสงทอง

“ปิ่นโตปูเสื่อ” รับประทานอาหารพื้นบ้านโบราณของสุโขทัย ในบรรยากาศลานสนามหญ้าหน้าเจดีย์ในวัดเก่า เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่ Realistic ที่สุด

ชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในบรรยากาศแบบสบายๆ และเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับจักรยาน (เช่า) คู่ใจ

ไกด์นำเที่ยวของเราในเช้าวันนี้มี 2 ท่าน คือพี่หน่อง ซึ่งเป็นประธานชมรมท่องเที่ยวเมืองเก่าสุโขทัย ชวนลุงแอ๊ด ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สั่งสมภูมิประวัติของเมืองพระร่วงไว้เยอะมาก จะมาพาเราเที่ยวและบรรยาย

จุดแรกเริ่มจาก วัดตระพังทอง เป็นวัดโบราณเกาะกลางน้ำ มีไฮไลท์คือ องค์พระเจดีย์ทรงระฆังสร้างด้วยหินศิลาแลงที่เก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย แต่ส่วนยอดและคอระฆังหักพังลงมาแล้ว บนตระพังมีมณฑปสร้างใหม่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่แต่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใหม่และยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่

“เวลาทำบุญก็มาทำกันที่วัดนี้” – พี่หน่อง เล่าให้ฟัง

ยามเช้า เราไปชมวิถีชีวิตของชาวบ้านในตลาดสด ชุมชนวัดตระพังทอง

ได้มีโอกาสไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จากแผงที่เพิ่งมีคนถูกไปจากที่นี่เมื่องวดก่อน

จะถูกรางวัลหรือไม่ … ต่อจากนี้ไปก็ขอให้เป็นเรื่องของแต้มบุญ 555

สะพานไม้ วัดตระพังทอง

จุดไฮไลท์ที่ถ่ายรูปสวยมาก

9 โมงเช้าเรากำลังรอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง เปิดทำการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ตั้งชื่อตามพระนามของพ่อขุนรามคำแหง ภายในจัดแสดงศิลปโบราณที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีภายในเมืองเก่าสุโขทัยและพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ พระพุทธรูป เครื่องใช้ ถ้วยชาม เครื่องสังคโลก ศิลาจารึก ฯลฯ

ตอนนี้กานต์กำลังทึ่งกับการได้ฟังลุงแอ๊ด ที่เล่าประวัติศาสตร์เมืองพระร่วงได้เป็นฉากๆ สนุกมากครับ

ไฮไลท์คือตัว อาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น ชั้นล่าง จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะแหล่งโบราณคดีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร และ ชั้นบน จัดแสดงศิลาจารึกสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสำริด เทวรูป โอ่งสังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำแสดงระบบชลประทานสมัยสุโขทัย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมี พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุโบราณต่าง ๆ อาทิ พระพุทธรูปศิลา แผ่นจำหลัก รูปทรงอาคารไทยแบบต่าง ๆ เตาทุเรียงจำลอง เสมาธรรมจักศิลา และ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ลายสือไท จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสุโขทัย ตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย มาจนถึงการพัฒนาเมืองสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ กระทั่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมกับเมืองโบราณศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร

จริงๆ ควรใช้เวลากับที่นี่ราวๆ ครึ่งวันถึงจะครบ

ช่วงสายเราไป ชมวิถีชีวิตชาวย่านล้องตาเพชร ซึ่งเป็นย่านที่มีความโดดเด่นในการสืบสานภูมิปัญญาและสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงานแกะสลักไม้ ในราคาที่ไม่แพงเลย

อย่างที่แขวนไวน์รูปมือชิ้นนี้ ราคาเพียง 150 บาทเท่านั้น!!

เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ที่ศูนย์พระพิมพ์ (กรุพระสุโขทัย)

ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ “พี่กบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์” ผู้ที่เติบโตมากับเรื่อวราวทางประวัติศาสตร์ เล่าขานตำนานสุโขทัยด้วยความมาดมั่น ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านกรุพระพิมพ์สุโขทัยที่มีสะสมไว้มากกว่า 850 แบบ สะท้อนถึงความศรัทธา ความเชื่อ และความผูกพันธ์ที่มีต่อพุทธศาสนามาตลอด 700 กว่าปีของชาวเมืองสุโขทัย

“ศิลปะโบราณ รากฐานแห่งชนชาติ” เป็นคติที่พี่กบบอกว่า “จำขึ้นใจ” กานต์ว่า มันใช่มากๆ ครับ เพราะเราไม่อาจสร้างชาติโดยปราศจากฐานรากที่แข็งแรงได้ ซึ่งพี่กบเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ขับเคลื่อนชุมชนด้วยพื้นฐานความคิดแห่งการพัฒนาไปข้างหน้า

กานต์ยังได้สร้างพระพิมพ์ของตัวเอง ซึ่งพี่กบได้สอนเทคนิคแบบโบราณ โดยเฉพาะการเตรียมดินที่ผ่านมากระบวนการทางความศรัทธามาแล้ว ก่อนจะนวดและกดลงพิมพ์ จากนั้นจะค่อยๆ นำพระออกมาจากพิมพ์โดยละม่อม

อยากเรียกพี่กบว่า “นายพรานกบ” เพราะได้ถ่ายทอดเทคนิคการดำรงชีวิตต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจุดไฟด้วยหิน การยิงธนูที่ทำขึ้นมาเอง สนุกมากครับ

ฉันชื่อ แคตนิส เอเวอร์ดีน, อายุสิบเจ็ดปี, บ้านของฉันอยู่เขต 12 ” – The Hunger Games: Mockingjay Part 1

“ปิ่นโตปูเสื่อ” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ผมชอบมากครับ กับการรับประทานอาหารกลางวันในเมนูพื้นบ้านโบราณของสุโขทัย ในบรรยากาศสนามหญ้าใต้ต้นโพธิ์ บริเวณลานหน้าเจดีย์เก่าของวัดตระพังทอง ดูทรงเสน่ห์มากๆ ครับ

ทุกเมนูปรุงโดยแม่บ้านในชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ที่มองไปแล้วแปลกตาที่สุดคือ “แกงไข่น้ำ” เป็นพืชน้ำจำพวกแหน มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเล็ก สีออกเขียว ลอยอยู่ตามผิวน้ำ ชาวบ้านจะใช้ตะแกรงตาละเอียดคอยช้อนตักขึ้นมานำมาทำเป็นอาหารคาวปรุงรสแบบแกงเผ็ด เป็นเมนูเอกของสำรับ

หลังจากอิ่มหนำกับ “ปิ่นโตปูเสื่อ” แล้ว ช่วงบ่าย นั่งนั่งรถต่อไปยัง “ถนนสังคโลก” ซึ่งตั้งแต่หัวถนน จะมีเรื่องราวของสังคโลกผ่านงานศิลปะเชิงประติมากรรม ประดับเรียงรายไว้ในกำแพง ถ่ายทอดวิถีชีวิตผู้คนสุโขทัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านศิลปะบนกำแพง เช่น การทำเกษตร การจับปลา ศาสนา วัฒนธรรม แหล่งโบราณสถานที่สำคัญ

จากนั้น เราจะไปถึงยังบ้านสุเทพสังคโลก ที่นี่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมกระบวนการผลิต การเขียนลายและตกแต่งเครื่องสังคโลกได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ถนนสังคโลกนับเป็นแห่งเดียวของไทย ที่ได้จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเครื่องสังคโลก และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมระดับโลก ที่ยังคงถ่ายทอดอยู่ในสายเลือดของคนสุโขทัย โดยเฉพาะกำเนิดลายปลาคู่หรือปลาก่า ที่ดูเผินๆ จะมีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียน ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มแม่น้ำยมในอดีต

นอกจากนี้ยังมีลายพันธุ์พฤกษา ลายดอกไม้ก้านขด โดยเฉพาะลายดอกบัว ซึ่งภายในวงกลมด้านในนิยมเขียนเป็นรูปกลีบบัวฟันยักษ์

ไม่ไกลกันนักยังมี “บ้านปรีดาภิรมย์” โดยพี่ฝิ่น-ธารารัตน์ เจ้าของบ้าน จะมาสอนเขียนลายสังคโลกบนเสื้อ เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายปลา แสดงถึงความสมบูรณ์ ลายหอยสังข์ แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ลายนก ลายพรรณพฤกษา และลายดอกไม้ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและสังคมเมืองสุโขทัยโบราณ ซึ่งการวาดลายลงเสื้อกลายเป็นของที่ระลึกชั้นดี นับเป็นการประยุกต์ลายสังคโลกให้ใกล้ชิดกับคนต่างถิ่น สามารถเข้าถึงได้

ช่วงบ่ายแก่ๆ เราเข้าไปที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันครับ จุดแรกคือไปกราบ “อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง” พระบรมรูปมีขนาด 2 เท่าพระองค์จริง สร้างในท่านั่งประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังสิลาบาตร ขนาดพระแท่นยาว 4 เมตร กว้าง 2.88 เมตร พระพัตถ์ขวาทรงถือพระคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน มีพระแท่นพานวางพระขรรค์ไว้ข้างๆ สร้างขึ้นถวายเป็นราชสักการแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัย ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่และทรงมีพระปรีชาสามารถนานัปการ อาทิ การประดิษฐ์อักษรไทย การปกครองปกครองแบบพ่อปกครองลูก บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และพระอุดมสมบูรณ์

ถัดลงมาด้านล่างเยื้องไปด้านข้างมีหลักศิลาจารึก และเมื่อเดินเข้ามาจะพบระฆังร้องทุกข์ที่สร้างจำลองไว้ตรงด้านหน้า เชื่อว่าถ้าลั่นระฆังแล้วขอพรจากพ่อขุนรามคำแหง เสมือนหนึ่งลูกมาพึ่งพ่อ จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล

ขณะที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เราสามารถใช้วิธีนั่งรถเข้าชม ปั่นจักรยาน หรือถ้าไม่รีบมากก็ใช้บริการรถรางได้ ซึ่งจะพาเราไปยังจุดต่างๆ ในเขตกำแพงเมือง ไม่ว่าจะเป็น วัดมหาธาตุ เปรียบเสมือนพระอารามหลวง มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดในบรรดาวัดทั้งหมด มีเจดีย์ 209 องค์ ภายในแกนกลางบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ล้อมรอบทั้งสี่ทิศด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก แนะนำให้มาช่วงเย็น เจดีย์จะทอแสงทองต้องพระอาทิตย์อัสดง สวยงามมากครับ

วัดสระศรีที่อยู่กลางน้ำ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สวยงาม ยามพระอาทิตย์อัสดง

ลุงแอ๊ด ไกด์กิตติมศักดิ์ ได้พาเราไปเรียนรู้ร่องรอยความเจริญในอดีตที่ปรากฏผ่านแหล่งโบราณสถานที่กระจายอยู่ทั้งในและนอกกำแพงเมืองสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 193 แห่ง ก่อนที่กรมศิลปากรจะมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองสุโขทัยเป็น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และคณะกรรมการมรดกโลกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2534

วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

คืนนี้เราพักกันที่ HomeStay บ้านแสนสุข 1 ใน 12 โฮมสเตย์ที่ปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ จะสังเกตว่าในบริเวณตัวบ้านซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่า จะมีร่องรอยอารยธรรมแฝงไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย

บรรยากาศที่โฮมสเตย์อบอุ่นและเป็นกันเองดีครับ อาหารเย็นที่บ้านแสนสุข ทำกันแบบเรียบง่าย เป็นแกงหน่อไม้ใส่ใก่และน้ำพริกกะปิ รวมมิตรผักทอด รสจัดจ้าน อร่อยมาก โดยมีขนมตาลเสิร์ฟเป็นของหวานตบท้ายมื้ออาหาร

อาจจะเพราะตื่นแต่เช้าเลยเข้านอนไว นอนหลับสบายเลยคืนนี้ที่บ้านแสนสุข

ผมนัดกันกับลุงบวบ ปราชญ์ชาวบ้านอดีตข้าราชการกรมศิลป์ ที่ตอนนี้กลายเป็นไกด์นำเที่ยวไปเสียแล้ว เวลานัดหมายคือตี 5 ลุงบวบจะมารับไปชมพระอาทิตย์ขึ้นทอแสง ต้องกระทบองค์พระที่วัดสะพานหิน

เช้านี้อากาศดี ไม่มีฝน ฟ้าเปิดเป็นใจ เราได้เห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นสู่ขอบฟ้า จากเนินเขาที่เราเดินเท้าขึ้นมาราวๆ 20 นาที อากาศดีสดชื่นมากครับ

วัดสะพานหิน เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินภูเขาลูกเตี้ยๆ ทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางขึ้นที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป จนถึงบริเวณลานวัดบนภูเขา

ไฮไลท์คือองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ยามย่ำรุ่ง ก่อนพระอาทิตย์จะทำหน้าที่สปอร์ตไลท์ คอยฉายแสงให้เห็นพระพักตร์เด่นชัดขึ้น

ด้านบนพบฐานวิหาร 5 ห้อง ก่ออิฐ เสาทำด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฐานกว้าง 20 เมตร ยาว 26 เมตร ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืน ปางประทานอภัย ยกพระหัตถ์ขวา สูง 12.50 เมตร เรียกว่า “พระอัฏฐารศ”

ฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 6 ฐาน กระจายทั่วไปบนลานวัด มีอยู่องค์หนึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อยู่ตรงเชิงบันไดด้านทิศตะวันออก

อาหารมื้อเช้าวันนี้ คุณแม่เจ้าของบ้านแสนสุข ขับรถตามเอามาให้ พร้อมกับจัดเตรียมสถานที่ทาน Breakfast ไว้ที่ศาลาริมทาง หน้าวัดสะพานหิน

บรรยากาศดีเชียวครับ ผมชอบมาก

อาหารที่จัดเตรียมมาง่ายๆ ครับ ทั้งชาและกาแฟ มีบริการพร้อม ปาท่องโก๋ ขนมปิ้ง และสำรับอาหารเช้า

ไม่ไกลจากวัดสะพานหิน ราว 5 นาที ลุงบวบได้พาผมมาถึงที่โบราณสถานวัดอรัญญิก เป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ลาดเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาสะพานหิน ในป่ากลางอรัญญิก นอกเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันตก

เมือแรกเห็นก็แปลกใจ “พามาดูอะไร” แต่เมื่อได้ฟังถึงได้เข้าใจในความสำคัญ

ที่นี่มีโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ กลุ่มฐานกุฏิสงฆ์ ก่ออิฐ เป็นสถานที่ใช้สำหรับพระสงฆ์นั่งวิปัสสนาธรรม ลุงบวบพาเราไปชมกุฏิ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก สำหรับพระภิกษุสงฆ์เพียงองค์เดียวนั่งวิปัสสนา

ใกล้กันเป็นทางเดินปูด้วยหินเชื่อมกันระหว่างโบสถ์และวิหาร

ถัดไปเป็นบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมขุดลงไปในศิลาแลง มีน้ำขังตลอดปี

สรีดภงส์ หรือที่สมัยก่อนเรียกกันว่า ทำนบพระร่วง เป็นคันดินโบราณ สร้างขึ้นจากความชาญฉลาดของคนสุโขทัยในอดีต ที่สร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขากิ่วอ้าย มาถึงเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจาก 17 โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำ

ในศิลาจารึกที่ 1 ระบุว่า น้ำจาก สรีดภงส์จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคภายในเมือง โดยระบายเข้าสู่เมืองตรงมุมตะวันตกเฉียงใต้ ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้กักเก็บน้ำได้ถึง 400,000 ลูกบาศก์เมตร

จากนั้น ขับรถไปเรื่อยๆ เพื่อไปยังวัดเขาน้อย เป็นวัดขนาดเล็ก

ไกด์น้องแมวของเรารอต้อนรับอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปดูด้านหลังของวัดจะเป็นแหล่งหินโบราณที่สำคัญของสุโขทัย

ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะเป็นที่ตั้งของวัดศรีชุม หรือ วัดฤๅษีชุม ตำนาน “พระพูดได้” วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า พระพุทธอจนะ ประดิษฐานอยู่ในมณฑป เป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและสักการะอย่างไม่ขาดสาย

ภายในค่อนข้างแคบ ด้านบนเปิดโล่ง เพื่อให้สัมผัสกับแสงแดดและท้องฟ้าตามธรรมชาติ

ลุงบวบ ปราชญ์ที่นำเที่ยวได้เล่าให้ผมฟังถึงตำนานพระพูดได้ว่า “เสียงที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเสียงของพระพุทธรูปนั้น อันที่จริงเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่เตรียมยกทัพไปยังเมืองสวรรคโลก และต้องการปลุกขวัญทหารกำลังใจเหล่าทหารให้ฮึกเหิมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำอย่างยิ่งในการทำศึกสงคราม จึงได้รับสั่งให้คนปีนขึ้นไปซ่อนตัวอยู่ในช่องอุโมงค์เล็กๆ ด้านหลังพระเศียรของพระพุทธอจนะและให้ส่งเสียงตอบองค์พระนเรศวร และเนื่องจากด้านหลังเป็นช่องอุโมงค์แคบๆ ทำให้เกิดเสียงพูดก้องกังวาลราวกับพระพุทธรูปพูดได้จริง” จึงเป็นที่มาของเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาของพระพุทธรูปได้ ณ วัดศรีชุมแห่งอาณาจักรสุโขทัยแห่งนี้

วัดเจดีย์สี่ห้อง มีรูปปั้นโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่มาของชุดนางระบำสุโขทัย

วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม ลุงบวบชี้ชวนให้เราดูพร้อมกับบอกว่า สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้เรียกกันว่า “วัดตาเถรขึงหนัง”

โบราณสถานยังล้อมรอบด้วยคูน้ำเช่นวัดทั่วไปในสุโขทัย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิเช่น หลักศิลาจารึกวัดเถรขึงหนัง พระพิมพ์นางพญาเสน่ห์จันทร์ และเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย แต่ที่แปลกตาคือ รูปแบบของเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสูง ต่างจากโบราณสถานอื่น มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ 3 ชั้น ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงองค์ระฆังกลม ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบอัฒจรรย์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา

วัดช้างล้อม ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัย เหนือคลองแม่ลำพัน เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อาณาเขตของวัดมีคูน้ำล้อมรอบ

ไฮไลท์คือเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ที่ฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม จำนวน 32 เชือก มีลานประทักษิณโดยรอบ มีวิหารหน้าเจดีย์ มีเจดีย์ราย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชั้นหนึ่งก่อนที่เป็นชั้นของคูน้ำ คุณลุงบวบเล่าว่า เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศรีลังกา

การที่นำช้างมาประดับเช่นนี้อาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในพุทธประวัติว่า ช้างเป็นสัตว์มงคลที่ช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาไว้ และอาจแสดงความหมายถึงช้างที่ช่วยค้ำยันเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอันเปรียบได้กับเจดีย์ประธานซึ่งอยู่ตรงกึ่งกลาง

ไปชม “หินข้าวตอกพระร่วง” หนึ่งเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันนำมาทำเป็นเครื่องประดับสวยงามมาก

ช่วงบ่ายไปเติมพลังที่ “บ้านมะขวิด” กันครับ ที่นี่เป็นทั้งร้านกาแฟ แก้ง่วง ที่ปลุกให้เราตื่นด้วยวิวหลักล้าน บรรยากาศดีมาก – หลายคนพูดตรงกัน

แต่ก่อนหน้าบ้านจะมีต้นมะขวิดขนาดใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ทักทาย นอกจากนั้นที่บ้านมะขวิดยังเป็นพิพิธภัณฑ์ย่ามและสะดอขนาดย่อมอีกด้วย มีสะสมไว้รวมกันราวหนึ่งหมื่นผืน แยกออกเป็นสี เป็นคอลเลคชั่นเอาไว้ สำหรับคนที่สนใจ ส่วนใครอยากจะพักที่นี่ก็ได้ครับ เพราะบ้านมะขวิดถือเป็นต้นแบบของโฮมสเตย์ชุมชน ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ที่ให้บริการแบบเป็นกันเอง อบอุ่น

ผมว่าเหล่านี้เป็นเสน่ห์ที่เรายอมจ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกแบบโฮมมี่ ที่แสนจะน่ารักอบอุ่น ที่สำคัญคือบรรยากาศและวิวธรรมชาติที่แสนงดงามของเมืองเก่าสุโขทัย

สิ่งที่ได้รับจากการมาร่วมกิจกรรมกับชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย นอกเหนือความรู้ทางประวัติศาสตร์ฉบับอัดแน่นจากปราชญ์ชาวบ้านแล้ว สิ่งที่กานต์สัมผัสได้คือเสน่ห์ของความเป็นไทยในแง่ของ Hospitality ซึ่งต้องมีมาจากข้างใน ให้อารมณ์เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน กินอิ่ม นอนอุ่น เราป้ายรอยยิ้มบนใบหน้าใส่กันตลอดเวลา

“Maintaining one’s culture, values and traditions is beyond price.” – ความรู้สึกบางอย่าง … เงินก็ซื้อไม่ได้ครับ

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน