Exclusive Talk with M. JCQUES LAPOUGE, The Ambassador of France to Thailand

La Fête Nationale

14 กรกฎาคม เป็นวันชาติฝรั่งเศส

 

ปีนี้สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงานฉลองวันชาติ ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ โดย ฯพณฯ ฌากส์ ลาปูฌ (Jacques Lapouge) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ร่วมพูดคุย 

KANT ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ร่วมล้อมวงคุย ในฐานะสื่อด้านการท่องเที่ยวครับ

ท่านทูตฯ ลาปูฌ เล่าให้ฟังหลายเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ 

ในอดีตเมื่อปีพ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) สยามซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีเป็นอุปทูต และออกขุนศรีวิศาลวาจาเป็นตรีทูต ทำให้ในปีนี้เป็นวาระการครบรอบ 333 ปี ของความสัมพันธ์ดังกล่าว

ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศส มีบาทหลวงเดินทางมาถึงสยามในปีพ.ศ. 2205 (ค.ศ. 1662) โดยนั่งเรือมาขึ้นฝั่งที่บางกอก ก่อนจะเดินทางไปถึงพระนครศรีอยุธยา ด้วยการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน (ที่หลุยส์ สก๊อตต์ นำแสดงในละครเรื่องบุพเพสันนิวาส นั่นแหละครับ) ชาวฝรั่งเศสจึงได้ตั้งสามเณราลัยในราชอาณาจักรสยาม ขณะที่บาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de la Motte) ได้กลายเป็นทูตทางศาสนาและเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคนแรกของสยาม ซึ่งถ้าใครได้ดูบุพเพสันนิวาส ก็คงจะรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่มีมาตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา หรือราวศตวรรษที่ 17 เลยครับ

ตรงส่วนนี้ท่านทูตฯไม่ได้เล่า กานต์เล่าต่อเองครับ

 

ขณะที่ ท่านทูตฯ กล่าวว่า ไทยและฝรั่งเศสมีสัมพันธไมตรียาวนาน เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันหลายเรื่อง อาทิ การยึดมั่นในเอกราช การให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์และมรดกของชาติ รวมถึงประเพณีและสินค้าที่ผลิตในประเทศ ตลอดจนมีรสนิยมเหมือนกันในเรื่องศิลปะการใช้ชีวิต ในด้านวัฒนธรรม มีการแลกเปลี่ยนผ่านโครงการความร่วมมือที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัย ซึ่งในเดือนกันยายนนี้ก็จะมีการจัดกิจกรรมทางด้านศิลปะของฝรั่งเศสที่หลากหลายในประเทศไทยด้วย

ท่านทูตฯ ยังได้กล่าวถึงโอกาสทางด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ ว่าจากนี้คงจะมีนักท่องเที่ยวจากฝรั่งเศส เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น และมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทย เดินทางไปท่องเที่ยวฝรั่งเศสมากขึ้นเช่นกัน อันเนื่องมาจากปัจจัยเรื่องอัตราค่าโดยสารของเครื่องบิน ที่ปรับตัวลงจากการแข่งขันในธุรกิจการบินที่ดุเดือดมากขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว 

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสได้จัดวางแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ดังนั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ ของฝรั่งเศส ที่นอกเหนือไปจากปารีส (Paris) ได้ อาทิ มาร์เซย (Marseille) บอร์กโดซ์ (Bordeaux) สตราสบูรก (Strasbourgh) ฯลฯ ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนมีความสวยงาม มีประวัติศาสตร์และศิลปะที่น่าสนใจ รอให้นักท่องเที่ยวไทยไปเยี่ยมชมอยู่แล้ว

 

 

นอกจากนี้ ทางสถานทูตฯ ยังได้แสดงความขอบใจที่ทางไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการส่งเสริมภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาที่ทำให้เยาวชนได้รู้จักค่านิยมสากลและมีโอกาสศึกษาต่อหรือทำงานในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีการสนับสนุนให้มีการใช้ภาษาฝรั่งเศสอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษา ร่วมกันพัฒนา วิจัยด้านนวัตกรรมร่วมกันทั้งสองประเทศ

ในด้านความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจากฝรั่งเศสเข้ามายังไทยและจากไทยไปยังฝรั่งเศสนั้น ภาคเอกชนฝรั่งเศสแสดงความสนใจในโครงการพัฒนาการคมนาคมขนส่ง ซึ่งไทยยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอันดับ 2 ของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ส่วนเรื่องการบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู มีความสำคัญต่อทั้งสองประเทศมาก ไทยเองจะได้รับผลประโยชน์มหาศาลด้วยเช่นกัน จากความเป็น “ซิงเกิลมาร์เก็ต” ของอียูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

 

“สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จะสนับสุนนการรื้อฟื้อการเจรจาดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขณะที่ไทยเองก็ได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว” ท่านทูตฯ ลาปูฌ กล่าว

 

ไทยถือเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอันดับสองของฝรั่งเศสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการแลกเปลี่ยนการค้า การลงทุน และกิจการของชุมชนชาวฝรั่งเศส ที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่ ทำให้ประเทศทั้งสองได้รู้จักซึ่งกันและกันดียิ่งขึ้น และเนื่องจากไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดจีน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ฝรั่งเศสสนใจพัฒนาการของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) รวมถึงขององค์กรอื่นๆ ที่มุ่งเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทำให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่าง 2 ประเทศดังกล่าวให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน