สัมผัสศรัทธา ณ ดินแดนหลังคาโลก

ทิเบต ดินแดนที่มีมากกว่าความสวยงาม คือ ศรัทธาของผู้คนที่ต่อพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเป็น
ที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลก จนได้รับฉายาว่า หลังคาโลก

นอกจากนี้ทิเบตยังได้รับการขนานนามอีกชื่อว่า “ดินแดนแห่งพระธรรม” (land of dharma) เนื่องจากพลเมืองของทิเบตกว่าครึ่งบวชเป็นพระ และนับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ในชีวิตนี้ควรมีสักครั้งที่จะได้ไปสัมผัสกลิ่นไอความเป็นพุทธศาสนาแบบวัชรยานของจริงที่ทิเบตสักครั้ง

และที่สำคัญเราจะไปพิสูจน์กันว่า จริงหรือไม่ที่ คนทิเบตเกิดมาอาบน้ำ 3 ครั้งในชีวิต คือตอนเกิด ตอนแต่งงาน และตอนที่ตาย ?!??

เรื่องราวน่าสนใจของดินแดนหลังคาโลก รอให้เราไปสัมผัสกัน

มาดูกันดีกว่าว่า สถานที่ท่องเที่ยวในทิเบตที่น่าสนใจ มีที่ไหนบ้าง

พระราชวังโปตาลา (พระราชวังฤดูหนาว) ตั้งอยู่บนยอดเขาแดงซึ่งมีความสูงประมาณ 117 เมตร เป็นอาคารสูง 13 ชั้น ยาว 400 เมตร กว้าง 350 เมตร มีห้องหับกว่า 1,000 ห้อง เป็นศิลปะสุดยอดฝีมือที่สวยงามที่สุดของทิเบต มีประวัติอันยาวนานมากว่า 1,300 ปี เริ่มสร้างเมื่อ ค.ศ.ที่ 7 โดยกษัตริย์ กษัตริย์ซงจั้นกันปู้ (Songtsen Gampo) หรือซงซาน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ที่รวบรวมชาวธิเบตให้เป็นอันหนี่งอันเดียวกันได้สำเร็จ

แรกเริ่มต้องการเพียงจะสร้างเป็นตำหนักให้แก่พระมเหสีเจ้าหญิงเหวินเฉิง (ประเทศจีน) และเจ้าหญิงภริคุติ (ประเทศเนปาล) พระมเหสีของพระองค์เอง ต่อมาทรงใช้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์ได้เปลี่ยนความเชื่อถือจากการนับถือลัทธิบอนมานับถือศาสนาพุทธ และทำให้พระพุทธศาสนา เริ่มวางหลักปักฐานในธิเบต และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งสมัยเปลี่ยนการปกครองเป็นพระลามะเป็นผู้ปกครองประเทศ ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ในสมัยของดาไลลามะที่ 5 ประมาณ ปี ค.ศ. 1645 – 1693 พระราชวังโปตาลา ได้เป็นพระราชวังฤดูหนาว ภายในพระราชวังได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ สีขาวเป็นส่วนของสังฆาวาส เป็นส่วนของพระราชวัง, สีแดงเป็นส่วนพุทธาวาสสำหรับปฏิบัติกิจของสงฆ์ ประกอบไปด้วยสถูปทองซึ่งภายในบรรจุพระศพขององค์ดาไลลามะทั้ง 8 องค์เอาไว้ และส่วนเชื่อมที่เป็นสีเหลืองใช้สำหรับเป็นสถานที่ประชุมสงฆ์ พระวิหาร โบสถ์ และห้องสมุดที่ใช้เก็บพระไตรปิฏก และได้ใช้ป้อมแห่งนี้เป็นสถานที่ในการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนจนกระทั่งมีพระเป็นผู้ปกครอง ปัจจุบันนี้รูปทรงเดิมของป้อมและพระตำหนักดังกล่าวสองหลังนี้ก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างที่ตบแต่งเพิ่มเติมใหม่ ที่ต่อเติมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ถือเป็นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุดในการเดินทางมาเที่ยวทิเบต

วัดโจคัง (Jokhang Temple) ภาษาจีนเรียก วัดต้าเจ้าซื่อ เป็นวัดที่ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวทิเบต วัดโจคังสร้างในสมัยของกษัตริย์ซงจ้านกันปู้ (ปีค.ศ.620-649) หรือซงซาน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต ที่รวบรวมชาวธิเบตให้เป็นอันหนี่งอันเดียวกันได้สำเร็จ สร้างเพื่อไว้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่มเหสี ชาติจีนและเนปาล ที่นำเข้ามายังทิเบต เป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่มีโครงสร้างไม้และดินเก่าแก่ที่สุดของทิเบต ศิลปะการก่อสร้างมีจุดเด่นตรงที่นำเอาศิลปะของ 4 ชาติมาผสมกันคือ ทิเบต จีน เนปาลและอินเดีย นอกจากนี้พระพุทธรูปที่พระนางเหวินเฉิง นำมาจากประเทศจีน ซึ่งได้รับการกราบไหว้และยอมรับกันอย่างมากว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แม้แต่พวกขบวนการเรดการ์ดหรือกองทัพแดงของจีนที่ทำลายทุกอย่างในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ก็ยังไม่กล้าแตะต้องพระพุทธรูปองค์นี้

ปัจจุบัน ในโลกมีพระพุทธรูปของพระเจ้าศรีศากยามุนีที่มีขนาดเท่ากับตัวจริงทั้งหมด 3 องค์ โดยพระพุทธรูปเหมือนพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 8 ชันษาประดิษฐานในวัดราโมเช พระพุทธรูปโจโว ริมโปเช (Jovo Rimpoche) ซึ่งเป็นเพระพุทธรูปจำลองพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนมายุได้ 12 ชันษา ประดิษฐานในวัดโจคัง และพระพุทธรูปจำลองพระพุทธเจ้าขณะมีพระชนมายุได้ 25 ชันษา ประดิษฐานในอินเดีย

ดังนั้น สิ่งแรกที่จะได้สัมผัสเมื่อมาถึงที่วัดโจคังคือคลื่นความศรัทธาของมหาชนชาวทิเบตที่มาเดินจงกรมทักษิณาวัตรบริเวณถนนแปดเหลี่ยมซึ่งล้อมรอบวัดโจคัง ก้งล้อแห่งมนตราและลูกประคำที่อยู่ในมือซ้ายขวาส่วนปากก็ภาวนา “โอม มณี เป เม หุม” บทสวดที่ชาวทิเบตใช้สวดเป็นชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณมากมายที่สัมผัสได้ถึงความเข้าถึงซึ่งความศรัทธา วัดโจคังแห่งนี้จึงเป็นเสมือนสถานที่ศูนย์รวมความศรัธาของทิเบตที่ยังไม่เสื่อมคลาย และความพลุกพล่านของนักท่องเที่ยวและพ่อค้าแม่ขายที่ขายของบริเวณรอบวัดโจคังไม่ได้ทำให้ความศรัทธาของชาวทิเบตลดลงไปเลย

ยูเนสโกได้ยกย่องวัดแห่งนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลุ่มโบราณสถานพระราชวังโปตาลา’ มรดกโลก ดังนั้นสำหรับการมาท่องเที่ยวทิเบต ก็คงตอบได้คำเดียวว่าไฮไลท์อีกอย่างคือ วัดโจคัง วัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่ห้ามพลาดเมื่อมาเที่ยวทิเบตนะครับ

วัดราโมเช (Ramoche Monastery) หรือ วัดเสี่ยวเจา เป็นคล้ายวัดพี่น้องของวัดโจคัง ซึ่งสร้างขึ้นและเสรจสมบูรณ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธรูป พระอักโษภยพุทธะ (Akshobhya) ที่ เจ้าหญิงภกุฎเทวี ทรงอัญเชิญมาจากประเทศเนปาล เชื่อว่าเป็นรูปเหมือนพระพุทธเจ้า เมื่อมีพระชนมายุได้ 8 ชันษา วัดนี้เคยได้รับความเสียหายอย่างรุ่นแรงจากกองกำลังสีแดงในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ต่อมาได้มีการบูรณะ อาคารหลักในพระวิหารมีสามชั้น ประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ และที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นที่สองเป็นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ แต่มีโบสถ์ที่มีภาพของพระพุทธรูปเป็นพระมหากษัตริย์ของ Nagas ชั้น 3 เป็นส่วนที่มีไว้สำหรับ ดาไลลามะ

เมื่อเข้าสู่อาคารหลักจะสามารถมองเห็นเสาขนาดใหญ่ที่เป็นศิลปะแบบทิเบต มีดอกบัวที่ห่อหุ้ม ลายเมฆเครื่องประดับและตัวอักษรทิเบตโดยเฉพาะ ยอดเขาสีทองของวัดมีลักษณะเป็นรูปกรวยแบบฮั่นซึ่งสถาปนิกชาวฮั่นได้ออกแบบให้สามารถมองเห็นได้จากทุกทิศทางในเมืองลาซา วัดนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการรวมกันของรูปแบบสถาปัตยกรรมฮั่นและทิเบต

วัดแห่งนี้จึงเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางด้านการแสดงความเข้มแข็งในความพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมของ เขตปกครองตนเองทิเบต และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในลาซา

พระตำหนักนอร์บุหลิงฆา (Norbulingka Summer Palace) เป็นพระราชวังฤดูร้อน (นอร์บุหลิงฆา แปลว่า สวนอัญมณี) สร้างขึ้นในช่วงหลังสร้างใน ค.ศ.1750 โดยดาไลลามะที่ 7 และดาไลลามะองค์อื่นๆ ได้สร้างต่อเติมขึ้นมาเรื่อยๆ มีเนื้อที่โดยรวม 360,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นที่พักในยามชรา และเป็นสถานที่พักฟื้นเนื่องจากดาไลลามะที่ 7 ท่านสุขภาพไม่ดี และมีโรคบางอย่าง เลยมีผู้แนะนำให้ท่านมาอาบน้ำแร่ที่บริเวณสวนแห่งนี้ และอาการของท่านได้ทุเลาลงในเวลาต่อมาภายในพระราชวังแห่งนี้มี 370 ห้อง ตำหนักที่สำคัญมี 3 ส่วน รวมทั้งตำหนักของดาไลลามะ องค์ที่ 14 ที่ใช้ เงินส่วนตัวสร้างขึ้นและอาศัยอยู่ 2 ปี ก่อนลี้ภัยไปอินเดีย ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้ได้เปิดเป็สวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนของประชาชน

อารามเซรา (Sera Monastery) ภาษาจีนเรียก “เซ่อลาซื่อ” ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาตาติปูทางด้านเหนือของกรุงลาซา และสร้างขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกระท่อมที่พระชองคาปา ตามประวัติเล่ากันว่า ชองคาปา ก็คือพระอาจารย์ขององค์ ดาไลลามะที่ 1) เพื่อศึกษาธรรมะปฎิบัติกรรมฐาน สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1419 สำหรับชื่อ “เซ่อลา”นี้มีที่มาอยู่ 2 ตำนาน กล่าวคือ ตำนานแรกกล่าว “เซ่อลา” ภาษาทิเบตแปลว่าลูกเห็บ เพราะตอนเริ่มสร้างวัดแห่งนี้ มีลูกเห็บตกลงมาห่าใหญ่ อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สถานที่สร้างอารามเซ่อลา เคยเป็นทุ่งกุหลาบป่า ดอกกุหลาบป่าภาษาทิเบตเรียก “เซ่อลา” เหมือนกัน จึงได้ชื่อว่า วัดเซ่อลา หรือ เซรา

อารามเซราจัดเป็นวัดที่ใหญ่อันดับสองของทิเบต รองจากวัดเดรปุง มีพระอยู่ประจำมากกว่า 5,000-6,000 รูป และมีวิทยาลัยใหญ่ 3 แห่งตั้งอยู่ในวัด เพื่อเป็นที่สำหรับสอบระดับเกเช่ วัดเซรายังเป็นที่เก็บสมบัติล้ำค่าทางพุทธศาสนา เช่นพระคัมภีร์ที่เขียนด้วยหมึกสีทอง พระพุทธรูปที่ทำจากอัญมณีและหล่อจากทองเหลือง ทั้งที่เป็นศิลปะแบบทิเบตและศิลปะแบบอินเดีย

ที่น่าสนใจสำหรับอารามเซราคือ ในช่วง่ายของทุกวันจะมีพระสงฆ์น้อยใหญ่ มาถกธรรมะ หรือ ปุจฉาและวิสัชนาหลักธรรม หรือ เปี้ยนจิง ให้เห็นกันเป็นปกติ เพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนและทบทวนวัตรปฏิบัติของตัวเอง วิธีการยกปุจฉาและวิสัชนาหลักธรรมของเขา เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน มีการส่งเสียงเรียกโหวกเหวกเหมือนทะเลาะกัน และยังมีการชี้หน้า ตบไม้ตบมือเหมือนจะชกกัน

อารามเดรปุง (Drepung Monastery) เป็นหนึ่งในสามวิทยาลัยสงฆ์ใหญ่ของนิกายเกลุก (อีกสองอาราม คือ อารามเซร่าและอารามกานเด็น) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1416 โดย Jamyang Choje Tashi Palden ซึ่งเป็นศิษย์ของซงคาปาเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดจนได้รับการขนานนามว่าเป็นนาลันทา (Nalanda) แห่งทิเบต ในอดีตดาไลลามะจะประทับอยู่ที่พระราชกานเด็น (Ganden Podrang) ในอารามเดรปุงจนกระทั่งดาไลลามะองค์ที่ 5 สร้างพระราชวังโปตาลา แล้วเสร็จจึงย้ายไปประทับที่พระราชวังโปตาลาแทน ในยุคของดาไลลามะองค์ที่ 5  ภายในอารามเดรปุงประกอบไปด้วยอาคารโถงประกอบพิธีสังฆกรรมหลัก (Tsokchen Lhakhang) พระราชวังกานเด็น (Ganden Podrang) และวิทยาลัยสงฆ์ (Tratsang)

สถาบันสงฆ์ลารุงกา” หรือ “สถาบันสงฆ์เซอต๋า“ (Serthar Buddhist Institute) ในหุบเขาลารุง (Larung Valley) เป็นสถาบันพุทธศาสนาแบบทิเบตที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1980 โดยเกนโป จิกมี พูนสก (Khenpo Jigme Phuntsok) ลามะนิกายหมวกแดง ถือเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาแบบทิเบตที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ภายใน หุบเขาลารุง นั้นส่วนใหญ่จะเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารที่พักของลามะ และวัดทิเบตซึ่งนับประมาณได้ว่าราวๆ 40,000-50,000 หลัง โดยอาคารแต่ละหลังก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างอยู่เบียดเสียดแน่นชิดกันไป และไล่ลดหลั่นลงมาตามความลาดชันของภูเขา โดยจุดสูงสุดนั้นมีความสูงประมาณ 4,000-5,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

น่าเสียดายที่ปัจจุบันทางการจีนเริ่มโครงการไล่รื้อถอนสถาบันสงฆ์ลารุงกาและจัดระเบียบชุมชนแล้ว โดยจะมีการเข้าควบคุมดูแลการเข้าออกพื้นที่ แยกเขตสงฆ์กับพื้นที่ตั้งค่ายพักแรมของผู้ปฏิบัติธรรมออกจากกันอย่างเด็ดขาด และทางสถาบันสงฆ์ยังต้องยอมรับให้รัฐบาลเข้ามาร่วมบริหารจัดการด้วยอย่างไรก็ตามภายเดือนกันยายนปีหน้า คาดว่าประชากรสงฆ์กว่าครึ่งจะถูกโยกย้ายออกจากเมืองไป ให้เหลืออยู่เพียง 5,000 คน

วัดทาชิหลุนโป Tashilunpo monastery วัดทิเบตใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตก เป็นหนึ่งในหกวัดใหญ่แห่งทิเบต สร้างในปี ค.ศ.1447   สถานที่สำคัญภายในวัดคือ วิหารของพระเมตไตรย (Maitraiya) หรือที่ชาวทิเบตเรียกว่า จัมบา เชนมู (Jamba Chenmu) สร้างขึ้นในปี 1914 โดยพระปันเชนลามะองค์ที่ 9 นอกจากนี้ไม่ควรพลาดชมวิหารกูดง (Gudong) มีเจดีย์บรรจุพระศพของปันเชนลามะองค์ที่ 4 ขนาดสูง 11 เมตร ประดับด้วยหินเทอร์คอยซ์ ปะการัง เพชรพลอยสี ไข่มุก ชาวทิเบตเชื่อว่าพระปันเชนลามะคือภาคหนึ่งของพระอามิตตะ (Amitabha) ผู้มีความสว่างเป็นนิรันดร์ เวลาเดินแนะนำให้เดินจากซ้ายมือไปขวามือลัดเลาะตามอาคารต่างๆไปเรื่อยๆจะเป็นทางเดินสูงขึ้นเรื่อยๆแล้วจะวนลงกลับมาจุดเดิม

ถัดไปเป็นห้องสวดมนต์ซึ่งมีบัลลังค์ของพระปันเชนลามะสำหรับสอนพระธรรมแก่พระสงฆ์ และมีพระพุทธรูปศากยมานุโคดมและพระโพธิสัตว์ทั้งแปดที่วิจิตรงดงาม อีกสถานที่หนึ่งคือ หอพระสูตร (Sutra Hall) มีพระพุทธเมตตา 10,000 มือ ถือเป็นพระโพธิสัตว์ในพุทธทิเบต และมีภาพวาดฝาผนังเป็นตำนานพื้นบ้านของทิเบต

บริเวณรอบๆ วัดและภายในวัดสามารถถ่ายภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวทิเบตได้ดีกว่าในเมืองลาซา เนื่องจากมีกลิ่นอายของความเป็นชนบทมากกว่า ผู้คนยังคงแต่งกายสไตล์ทิเบตขนานแท้ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เดินทางมาสวดมนต์ไหว้พระ ต่างถือกงล้อสวดมนต์และลูกประคำ เดินสวดมนต์กันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างจนถึงมืดค่ำเลยทีเดียว และยังมีร้านค้าขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวอีกมากมาย

วัดรงบุก (Rongbuk Monastery) วัดที่สูงที่สุดในโลก เป็นวัดที่อยู่สูงที่สุดที่ระดับความสูง 4980 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ห่างจากเอเวอร์เรส เบส แคมป์ (EBC) ประมาณ 8 กิโลเมตร นับเป็นจุดชมวิวยอดเขาเอเวอร์เรส์ฝั่งเหนือที่สวยที่สุดโดยมีเจดีย์องค์ขาวใหญ่เป็นฉากหน้า  สามารถค้างแรมได้ที่วัดรงบุกเพราะมีเกสเฮ้าท์และโรงแรมของรัฐบาลให้บริการ หรือจะเดินไปอีก 5 กิโลเมตรเพื่อค้างแรมที่ค่ายพักแรม ซึ่งอยู่ใกล้เอเวอร์เรสเบสแคมป์เข้าไปอีก

ทะเลสาบยัมดร๊อกเป็นหนึ่งในสามทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,441 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในทิเบต น้ำในทะเลสาบเป็นสีเทอร์ควอยซ์สวยงามเป็นประกายระยิบระยับ มีเทือกเขาหิมะโนจินคางซังเป็นฉากหลัง (ยอดเขาโนจินคางซังนี้สูงเป็นอันดับที่ 105 ของโลกด้วยความสูง 7,206 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล) เชื่อกันว่าทะเลสาบแห่งนี้เป็นจิตวิญญาณของชนชาติทิเบต หากน้ำในทะเลสาบแห่งนี้เหือดแห้งก็หมายถึงการล่มสลายของทิเบต

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน