มีด้วยเหรอ เชฟมิชลินสตาร์ ที่ขอคืนดาว เพราะเอามาก็ไม่มีความสุข

บางครั้งการทำอะไรดีดีก็ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลมาตอบแทนแค่ต้องการทำในสิ่งที่เรารักให้ดีและมีความสุขเท่านั้นเอง

มีหลายคนที่คิดแบบนี้โดยเฉพาะกับคนที่ตั้งใจทำอะไรสักอย่างมากๆ มีความรู้สึกต้องการเอาชนะแต่เป็นการเอาชนะใจตนเองมากกว่าสิ่งอื่นใด

แม้รางวัลที่ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่สู้รางวัลแห่งการเอาชนะใจตนเองได้ … มันเป็นที่สุดของ “ความสุข”

แต่ที่เหนือไปกว่านั้น คือการที่ได้ทำให้คนรอบข้างมีความสุขจากผลงานของเรา

วงการอาหารก็เหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยมีการประกาศรางวัลมิชลินไกด์แบงค์คอก (Michelin Star) ซึ่งเป็นการมอบรางวัลให้กับร้านอาหารและเชฟที่ผ่านการสำรวจตรวจสอบทั้งเรื่องของความอร่อย มาตรฐานในการให้บริการ เพื่อเป็นการการันตีถึงความสามารถของร้านอาหารและเชฟที่สามารถคว้ารางวัลระดับโลกเช่นมิชลินไกด์นี้มาได้ ซึ่งเปรียบไปก็เสมือนการคว้าออสก้าร์ของวงการอาหารมาครองได้

ที่กรุงเทพฯ ก็ร้านอาหารที่น่าสนใจหลายร้านที่ได้รับรางวัล แต่ที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นร้านเจ๊ไฝประตูผีที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ระดับ 1 ดาว

ซึ่งแน่นอนว่าร้านไหนที่ได้รับดาวมิชลินก็เท่ากับเป็นการให้รางวัลและรับประกันเกียรติภูมิของร้าน ของเชฟหรือพ่อครัว รวมถึงเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการเรียกลูกค้าไปด้วยในตัว

อย่างร้านเจ๊ไฝ หลังได้รับรางวัลร้านก็คนแน่นแทบแตก

อย่างไรก็ดี โลกที่เหรียญมี 2 ด้าน มิชลินสตาร์ก็เช่นกันครับ มีทั้งรางวัลที่เป็นด้านบวกและแง่ลบ เพราะเอาเข้าจริงก็มีร้านอาหารหลายแห่ง รวมถึงเชฟหลายท่านที่ปฏิเสธคำเชิญของทีมงานมิชลิน ไม่ขอรับดาวมิชลิน นั่นหมายรวมถึงการยอมปฏิเสธชื่อเสียง ลูกค้าและเงินทองที่จะตามมา

เนื่องจากว่า ความเป็นร้านดาวมิชลินนั้นคือการสร้างมาตรฐานที่สูงมากให้กับตนเอง และสร้างความคาดหวังที่สูงเกินให้กับลูกค้า มันคือที่มาของ “แรงกดดันมหาศาล” ยิ่งดาวมากก็ยิ่งหมายถึงมาตรฐานที่ชัดเจน คงเส้นคงวาหรือมีแนวโน้มไปในทางที่สูงขึ้น รวมถึงความคาดหวังที่สูงมาก

เพราะหากไม่สามารถรักษารสชาติอาหาร มาตรฐานร้าน การบริการ รวมไปถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับร้านได้อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตวันหนึ่งวันใด ร้านก็อาจจะถูกถอดดาวหรือริบรางวัลคืนได้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ส่งผลทางจิตวิทยาของลูกค้าที่คิดเผื่อเอาไว้แล้วว่า “มาตรฐานตก ความอร่อยลดลงไป” (หรือเปล่า?)

แน่นอนว่าผลกระทบที่จะตามมาก็คือ ยอดขาย และเกียรติประวัติชื่อเสียงดังนั้น ร้านอาหารบางร้าน เชฟบางท่านจึงมองว่าการได้รับดาวมิชลินเป็นสิ่งยุ่งยากและกวนใจ ทำให้ทางร้านต้องปรับตัวเองอย่างมากในการที่จะรองรับลูกค้าที่มาจากทั่วโลก โดยเฉพาะที่ร้านที่มีขนบเฉพาะตัวบางอย่าง ทั้งในเรื่องของระบบการให้บริการ รสชาติและการรับประทานอาหาร บางร้านบอกว่าต้องคิดเผื่อไปถึงลูกค้าขาประจำที่อาจจะหนีหายไป เนื่องจากลูกค้าหน้าใหม่เข้ามาแทนที่

ขณะเดียวกัน กรณีของเชฟก็อาจจะรู้สึกว่าอาหารแต่ละจานเต็มไปด้วยแรงกดดัน เพราะถูกตัดสินโดยคนกลุ่มหนึ่ง (Michelin Inspector) ไปแล้ว และยังถูกคาดหวังจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง (คนทาน) ด้วย

แน่นอนว่าหากวันใด อาหารจานไหนดันพลาดไม่เป็นไปตามมาตรฐานดาวมิชลิน ก็เหมือนถูกตัดสินอนาคตของร้านและเชฟคนนั้นไปโดยปริยาย ทั้งที่บางครั้งมันอาจจะเป็นเหตุสุดวิสัยที่พลาดกันได้

ดังนั้น จึงมีเคสการขอคืนดาวมิชลินเกิดขึ้น อย่างเมื่อต้นปีร้าน A’Q ที่เบลเยียมซึ่งได้ดาวมิชลินต่อกันมา 5 ปีกลับขอคืนดาวเพราะปวดหัวกับลูกค้า รวมไปถึงเครียดกับการแข่งขันจนหมดสนุกในการทำอาหารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

รวมถึงกรณีของ เชฟชาวฝรั่งเศสชื่อ “เชฟเซบาสเตียน บรา” (Sébastien Bras) เชฟมิชลินระดับ 3 ดาว มาเกือบ 20 ปี ได้รับการยกย่องว่าเป็นเชฟที่ดีที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส จาก ห้องอาหาร เลอซูเกต์ (Le Suquet) หนึ่งในห้องอาหารชั้นนำของโลก จากเมืองโอบรัค (Aubrac) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเดินทางมาสร้างความอิ่มเอมให้กับนักกินชาวไทยที่ ห้องอาหาร เลอ นอร์มังดี โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว (ปีนี้ห้องอาหาร เลอ นอร์มังดี เพิ่งได้รับ มิชลิน 2 ดาว ของกรุงเทพฯ)

ปรากฎว่า ไม่นานมานี้ เชฟเซบาสเตียน บรา เพิ่งปฏิเสธการรับรางวัลเชฟมิชลิน 3 ดาวและขอให้ทางมิชลินถอดชื่อร้านออกจากไกด์บุ๊คด้วย เนื่องจากไม่อยากถูกกดดันและคาดหวังจากลูกค้าที่มาก้าวเท้าเข้ามาพร้อมกับรางวัลและความสำเร็จนี้

เชฟบอกว่าการที่ความเป็นเชฟของเขาถูกตัดสินโดยคนกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะว่าถ้าหากวันดีคืนดี อาหารเมนูไหนหรือว่ามื้อไหนที่เสิร์ฟไปแล้ว ไม่ได้มาตรฐานระดับ Extreamely High Standard ของมิชลิน แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายเกินกว่ารางวัลที่ได้รับมา

เชฟบอกว่า การต้องรับมือกับการถูกสำรวจรสชาติอาหาร 2-3 ครั้งต่อปี ซึ่งมีลักษณะของการสุ่มสำรวจตรวจสอบและอาจจะถูกตัดสินได้ในทุกจานในทุกวันที่เสิร์ฟออกไป จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เท่ากับการแบกรับแรงกดดัน ความคาดหวังในเรื่องของการสร้างสรรค์เมนูอาหารชั้นยอดและการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้รับประทานอย่างไม่มีที่ติเลยสักจาน เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกถอดดาวมิชลินได้ จนเชฟมองว่า น่าจะเป็นภัยคุกคามและเป็นดาบที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตนเองและร้านของเขาได้ กลายเป็นทุกข์ มากกว่าสุข

ดังนั้น การคืนดาวให้กลับไปอยู่บนฟ้า น่าจะเหมาะกับคนธรรมดา … ที่โหยหาความสุขเป็นที่สุด

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน