Human Flow คำถามตัวโตเรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัย จาก “อ้าย เว่ย เว่ย”

รู้จักชื่อของ “อ้าย เว่ย เว่ย” ครั้งแรกจากนิทรรศการศิลปะ “Ai Weiwei. Libero” ที่ Palazzo Strozzi ในฟลอเรนซ์ อิตาลี

จากนั้นก็ได้เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เขาสร้างขึ้นเสมอว่า มันช่างส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติมากเสียเหลือเกิน … 


โดยเฉพาะผลงานล่าสุดที่ชื่อ Human Flow ซึ่งเป็นหนังสารคดีเรื่องล่าสุดของเขา ที่ไม่เพียงแค่นำเสนอเหตุการณ์วิกฤตผู้ลี้ภัย แต่ยังมองลึกลงไปถึงความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะได้รับโอกาสในการดำเนินชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน


จุดเริ่มต้นของ Human Flow คือภาพที่เกาะเลสบอส (Lesbos) ในประเทศกรีซ ที่กระแทกใจอ้าย เว่ย เว่ย เป็นอย่างมาก เขาจึงตั้งใจถ่ายทอดสถานการณ์ของกลุ่มผู้ลี้ภัย ในแง่มุมของความสะเทือนใจ ที่ยากเกินจะบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นภาพ ผู้หญิง ผู้ชาย ลูกเด็กเล็กแดง ผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างตื่นกลัวและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบนแผ่นดินใหม่ ชีวิตของพวกเขาหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร


อ้าย เว่ย เว่ย เลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบสารคดีที่เน้นถ่ายทอดเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย ตัดสลับกับการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยหรือผู้คนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงในหลายสาขา แล้วนำมาเชื่อมโยงกันด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง มีการอ้างอิงสถิติตัวเลข ตลอดจนบิ๊วอารมณ์ของผู้ชม ด้วยคำพูดสำคัญหรือบทกวีของผู้คนและจากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการลี้ภัยหรือการพลัดถิ่นฐานบ้านเกิดของตน โดยทุกองค์ประกอบของการเล่าเรื่องอยู่ภายใต้เส้นเรื่องเดียวกันคือการนำไปสู่ประเด็นสะท้อนสังคมเรื่องของวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่มีมิติและระดับของปัญหาที่ซับซ้อน แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะเกิดต่างกรรมต่างวาระก็ตาม แต่หัวใจสำคัญที่ อ้าย เว่ย เว่ย  เชื่อและต้องการนำเสนอก็คือผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ได้ถูกลิดรอนความเป็นมนุษย์ออกไปจนหมดสิ้น


นอกจากนี้ Human Flow ยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยผ่านการถ่ายทำใน 23 ประเทศ 40 ค่ายอพยพที่เกิดขึ้นจริง เช่น อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ อิรัก อิสราเอล ฝรั่งเศส เยอรมันนี อิตาลี อเมริกา และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย


อ้าย เว่ยเว่ย ได้เข้ามาถ่ายทำ Human Flow ในไทยที่ศูนย์พักพิงผู้อพยพชั่วคราวแม่ละอูน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยบ้านอุ้มเปี้ยมใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก แต่ได้อยู่ในหนังแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงที่หนังไล่เรียงภาพเคลื่อนไหวของค่ายผู้ลี้ภัยจากทั่วโลกตอนท้ายเรื่อง แต่ก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ว่า ประเทศไทยไม่เคยให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ จึงไม่มีกฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน และผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์


ผู้ลี้ภัยในหลากหลายค่ายอพยพ ถูกบีบให้ต้องย้ายจากภูมิลำเนาหรือภาวะสงครามที่เผชิญกับความอดอยาก เพื่อนำไปสู่การเดินทางอันแสนยาวไกล เพื่อแสวงหและแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ในการดำเนินชีวิต ที่เหมือนตายแล้วฟื้นให้คืนอยู่รอดอีกครั้ง


ระยะเวลาที่หนังฉาย 145 นาทีคงเทียบไม่ได้กับตลอดชีวิตของผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอเรื่องเลวร้ายมา Human Flow จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนของความเป็นจริงที่เสี้ยวหนึ่งของโลกใบนี้เรามีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น และหวังว่าเงาสะท้อนจากกระจกบานใหญ่ของ อ้าย เว่ย เว่ย จะส่องแสงต้องดวงอาทิตย์เพื่อที่จะติดตาคนทั้งโลก เพราะอ้าย เว่ย เว่ย ต้องการบอกว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของโลกในวินาทีนี้ และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนรุ่นปัจจุบันที่มิอาจจะเบือนหน้าหนีความเป็นจริงนี้ไปได้

ตัดกลับมาที่วินาทีหลังหนังจบ สิ่งที่เราพบคือ 145 นาที ในห้องสี่เหลี่ยมมืดๆ ขนาดไม่ใหญ่นัก ที่เราเรียกว่า”โรงหนัง นั้น มิอาจถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดบนโลกใบนี้ได้ครบ และอ้าย เว่ยเว่ย ก็ไม่ได้เป็นคนเดียวที่สามารถสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไปได้เพียงลำพัง แต่หวังให้แสงแรกหลังออกจากโรงหนังที่เข้ามากระแทกตาเรา จะเป็นการจุดประกายให้คนทั้งโลกที่ดู Human Flow เสร็จ หันมาทบทวนว่า “มันเกิดอะไรขึ้นบนโลกใบนี้” และเรามีจะส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้อย่างไร

หรือใครจะคิดได้ตั้งแต่นั่งแทะป๊อบคอร์นอยู่ในโรงหนัง … ก็ฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดี

KΔNT
KΔNT

อดีตผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจ เจ้าของเพจ KANT.CO.TH ชื่นชอบในไลฟ์สไตล์ การท่องเที่ยวพักผ่อน ในโรงแรมหรู สนใจเรื่องราวงานดีไซน์ อสังหา การตลาด การลงทุน